วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ภัยโลกไซเบอร์ ส่งผลเด็กโตเร็ว-วุฒิภาวะต่ำ


ครอบครัวไทยยุคใหม่มีขนาดเล็กลงเหลือ 3.5 คนต่อครัวเรือน เด็กเกิดน้อย แต่คนแก่มากขึ้น กลายเป็นสังคมคนสูงวัย เด็กถูกรุมเอาใจ ทำให้โตเร็วแต่วุฒิภาวะต่ำลง อิทธิพลของโลกออนไลน์ทำให้ครอบครัวสื่อสารและใช้ชีวิตร่วมกันน้อยลงพ่อแม่ลดบทบาทการสั่งสอน โยนหน้าที่ให้ครูและสื่อมวลชน...ข้อมูลที่ว่านี้ได้มาจากข้อสรุปจากวงเสวนาทางวิชาการเรื่อง "การเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทย"ที่จัดขึ้นโดยสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และบริษัท รักลูกกรุ๊ป

ภัยโลกไซเบอร์

ศ.ปราโมทย์ ประสาทกุลนักวิชาการด้านประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความคิดเห็นว่าโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อายุเฉลี่ยของคนไทยจาก 40ปีเป็น 73ปี เกิดน้อย ตายน้อย เป็นภาวะ "อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทน" ซึ่งจะทำให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ

อาจารย์อุทัย ดุลยเกษมอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรระบุว่า ครอบครัวยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง อาจไม่ได้ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก เสมอไป เพราะอัตราการหย่าร้างสูง สภาพครอบครัวจึงมีความมั่นคงลดลง ส่วนกระแสสังคมภายนอกทำให้ครอบครัวหันไปให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อเสียง เงินทอง วัตถุสิ่งของ มากกว่าการเอาใจใส่คนในครอบครัว พ่อแม่ขาดความเชื่อมั่นในการเลี้ยงดูลูก ต้องพึ่งพาโรงเรียนดีๆ หลักสูตรเสริมทักษะต่างๆ เอาอนาคตลูกไปฝากไว้กับตัวช่วยภายนอก

"เด็กถูกรุมเอาใจจากคนในครอบครัวจนมีวุฒิภาวะไม่สมวัย สังคมสมัยใหม่เน้นข่าวสารทำให้พ่อแม่ลดบทบาทตนเองในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีให้แก่ลูกหลาน กลับเป็นสื่อมวลชนมีอิทธิพลมากกว่าครอบครัว"

อาจารย์อุทัย เสนอว่า ควรนิยามความหมายของ "ครอบครัว" กันใหม่ เพราะที่ผ่านมาเน้นไปที่การอธิบายลักษณะองค์ประกอบของครอบครัว แต่ไม่พูดเรื่องสัมพันธภาพ จึงควรหานิยามใหม่ โดยเน้นไปที่บทบาทหน้าที่เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวช่วยกันผลักดันการทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์อย่างเอาใจใส่

อาจารย์ศิวพร ปกป้องรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลเสนอว่า ครอบครัวจะมีสุขภาวะที่ดีต้องหยุดการสร้างทุกข์ ได้แก่ ทุกข์จากอบายมุข ทุกข์จากหนี้สิน รายได้ไม่พอใช้ หยุดความรุนแรงการนอกใจ และต้องสร้างสุข ได้แก่ การสื่อสารที่ดี มีเวลาร่วมกัน แบ่งปันใส่ใจ และการห่วงใยสุขภาพ

อาจารย์ศิวพร เสนอทางแก้ปัญหาครอบครัว คือ การหันมาพูดคุย ปรับความเข้าใจ และควรมีเวลาร่วมกัน เพราะปัจจุบันเวลาส่วนใหญ่ของสมาชิกจะหมดไปกับการสนใจโลกไซเบอร์

ทวีศักดิ์ อุชุคตานนท์จิตรกร นักคิด ที่ปรึกษาด้านการบริหารการจัดการและกลยุทธ์กล่าวว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อครอบครัวมี 4ประการได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการผันผวนของค่าเงิน

"ครอบครัวยุคใหม่มีความอิสระสูง พร้อมถูกชักจูงทางการตลาดจากข่าวสารและปัจจัยภายนอกได้ง่าย สิ่งสำคัญที่จะช่วยยึดโยงความเป็นครอบครัวให้คงอยู่ คือ อำนาจความใส่ใจ ควรเพิ่มทักษะการสื่อสารกับคนใกล้ชิดปัญหาในครอบครัวส่วนหนึ่งมาจากการไร้ความสามารถในการสื่อสารกับคนใกล้ชิด เราพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัวกันน้อยมากผู้นำครอบครัวต้องรู้จักบริหารความใส่ใจให้สมดุลกับการบริหารความสำเร็จทางการงานผนึกกำลังกับคู่ชีวิตเพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน"

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดย์ โพเอทส์ ให้ความเห็นว่าไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก เด็กรุ่นใหม่โหยหาการติดต่อกับผู้อื่น ต้องการเป็นใครบางคนที่สำคัญ หากถูกปฏิเสธหรือวิจารณ์ในสังคมออนไลน์จะรู้สึกล้มเหลว ซึ่งสะท้อนถึงการขาดความอบอุ่นในครอบครัว เด็กบางคนไม่คุยเรื่องบางเรื่องกับพ่อแม่ แต่ไปเปิดเผยในโลกออนไลน์ แนวโน้มสังคมไทยในอนาคต เด็กไทยจะเป็นเด็กอเมริกามากขึ้น เพราะต้องการอิสระ หนุ่มสาวแยกครอบครัวออกไป ผู้ใหญ่ไทยกลับคล้ายญี่ปุ่น คือ มีคนแก่ล้นประเทศ ดังนั้นครอบครัวไทยจึงกำลังเปลี่ยนรูปแบบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น