วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

6 วิธีแห่งการอยู่ร่วมกัน อย่างกลมกลืนสมานฉันท์

 

แสงเทียน

ปาฐกถาธรรม "สู่สังคมอันสมดุล"

        
ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย อยู่ในภาวะขัดแย้งทางความคิดเห็นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีการใช้ความรุนแรงต่อกัน ด้วยระยะเวลาแห่งความขัดแย้งที่ต่อเนื่องยาวนานมาถึง 3 ปี ทำให้บางคนใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน บางคนพยายามหาทางออกให้สังคม บางคนเรียกร้องสันติวิธี บางคนวางเฉย และหลายคนเบื่อหน่าย
         คำถามที่อยู่ในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ คือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร?

         ความจริงที่น่ายินดี คือ โลกของเรามีความขัดแย้งมากมายก็จริง แต่เราก็มีชุมชนที่สามารถที่อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนสมานฉันท์ได้ และเราสามารถนำตัวอย่างเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน

         ภิกษุธรรมฑูต หรือ ภิกษุฟับคำ จากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ได้กล่าวในงานปาฐกถาธรรม "สู่สังคมอันสมดุล" ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2551 ที่ผ่านมาว่า เราสามารถนำความสงบสันติมาสู่สังคมได้ด้วยการสร้างสันติภาวะในใจของเรา และโน้มนำหลักคำสอนของพุทธองค์เกี่ยวกับ 6 วิธีแห่งการอยู่ร่วมกัน อย่างกลมกลืนสมานฉันท์มาใช้ในสภานการณ์ปัจจุบัน 

         ดูแลหมอกในตัวเรา

         ทุกครั้งในเวลาที่ฝนตกและอากาศเย็น หมอกจะจับตัวที่กระจกรถของเรา ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นทางได้ เช่นเดียวกันกับวิกฤตทางการเมือง ซึ่งทำให้เรารู้สึกกลัว อึดอัด ไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร หากเราอยู่ในรถ เราสามารถเปิดเครื่องละลายหมอกเพื่อทำให้เราเห็นทางได้ชัดเจน ในสถานการณ์เช่นนี้สิ่งที่จะละลายหมอกในตัวเราได้ คือ ลมหายใจ การตามลมหายใจเข้าออกและการยิ้ม เป็นการทำให้กายและใจของเราสงบสันติ 

         เราอาจมีความกลัว ความโกรธ ความกังวล ซึ่งเป็พลังงานแง่ลบที่ทำลายสิ่งต่างๆ แต่ถ้าเรามีพลังแห่งลมหายใจ เรามีความสามารถการตระหนักรู้ลมหายใจเข้าและออก เราจะสามารถแปรเปลี่ยนพลังงานแง่ลบ และบำรุงหล่อเลี้ยงตัวเราให้สดชื่น ชัดเจน และมีความสงบสันติได้

6 วิธีแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสมานฉันท์

         ในกรุงเทพฯ มีการประท้วง 3 เดือน ติดต่อกันเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ข่าวนี้อาจทำให้บางคนมีพอใจ แต่บางคนก็ไม่พอใจ จึงดูเหมือนว่าฝ่ายหนึ่งมีความสุข อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีความสุข เพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ในสถานการณ์เช่นนี้ หากเราเป็นผู้มีอำนาจเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร 

        
แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนที่มีอำนาจ? เขาจะนำความสุข สามัคคี กลมเกลียวมาสู่สังคมได้อย่างไร?
         พุทธองค์มีคำแนะนำให้กับเราเกี่ยวกับ 6 วิธีแห่งการอยู่ร่วมกัน อย่างกลมกลืนสมานฉันท์ ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้ได้ในครอบครัว ทำงาน สังคม และประเทศชาติของเรา

 1. ตระหนักว่าเราอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เราอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน 
         ในสังฆะแห่งการปฏิบัติ หรือเรียกได้ว่า พุทธบริษัท 4 ประกอบด้วย พระภิกษุ พระภิกษุณี ฆราวาสหญิง ฆราวาสชาย ดังที่เราเห็นในสังฆะของหมู่บ้านพลัม เรามีพระชาวอเมริกัน เขมร เวียดนาม ไทย ฝรั่งเศส ฯลฯ แต่เราสามารถมีวิถีชีวิตร่วมกันได้ และถึงแม้ว่าเพื่อนพี่น้องสังฆะในเมืองไทยจะอยู่คนละประเทศ แต่เราอยู่ใต้หลังคาแห่งอุดมคติเดียวกัน 

         ในปัจจุบันคนไทยทุกคนล้วนอยากให้ประเทศมีความสงบสันติ ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทุกคนรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนฐานไฟร้อน และอยากให้สถานการณ์สงบเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่คือความหมายที่หนึ่งของการมีสิ่งแวดล้อมเดียวกัน

         ถ้ามองให้กว้างไปกว่านั้น เราอยู่บนพื้นโลกเดียวกัน อยู่ใต้หลังคาเดียวแผ่นฟ้าเดียวกัน สถานการณ์โลกร้อนที่เราประสบอยู่ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง ทั่วทุกหนแห่งล้วนได้รับผลกระทบ และทุกคนในแต่ละประเทศต่างมีความรับผิดชอบในการดูแลภาวะโลกร้อน

 2. แลกเปลี่ยนสิ่งของ สิ่งที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน

         ในการดำรงชีวิตอยู่เราจำเป็นต้องมีปัจจัยสี่ และเด็กๆ ทุกคนต้องการได้รับการศึกษา ในสังคมปัจจุบันเราเห็นคนที่มั่งคั่งและยากจน แต่ไม่ควรมีคนยากจนไม่มีอาหารรับประทาน ในขณะที่บางคนทิ้งขว้างอาหารเหล่านั้น ลูกของคนมีฐานะอาจมีโอกาสในการศึกษามาก แต่คนทั่วไปก็ควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยเช่นกัน หากคนในสังคมไม่ได้รับพื้นฐานเหล่านี้ พวกเขาย่อมเป็นทุกข์ เราจึงไม่ควรแบ่งแยกคนรวยและคนจน แต่มองว่าทุกคนเป็นสมาชิกของสังคม ทุกคนควรได้รับปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้

 3. เคารพกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน

         กฎในการอยู่ร่วมกันช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย เช่น ขับรถเมื่อพบไฟแดงต้องหยุด หากเราทุกคนฝึกปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว เราจะไม่มีการคอรัปชั่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง และทุกคนควรมีสิทธิได้รับการคุ้มครองเช่นนั้น

         ในสังฆะแห่งการปฏิบัติ ข้อนี้อาจเรียกสิ่งนี้ว่าศีลหรือวินัย เรามีวินัยไม่ทานอาหารในห้องนอน ยกเว้นในกรณีที่เราป่วยหรือได้รับหน้าที่จากสังฆะ เมื่อหลวงน้องเห็นหลวงพี่ทานอาหารในห้อง หลวงน้องสามารถเตือนหลวงพี่ได้ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าเราจะอาวุโสมากหรือน้อย เราควรปฏิบัติตามข้อบังคับนั้น

 4. การใช้วาจาแห่งความรักความเมตตา

         มีคำกล่าวว่า "คำพูดเป็นสิ่งที่ไม่ต้องหาซื้อหา เราต้องใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่เป็นการทำร้ายใคร" คำพูดนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะคำพูดล้วนมาจากความคิดเห็น หลายครั้งเราพูดโดยไม่มีความตระหนักรู้ซึ่งสร้างความทุกข์ให้กับตัวเราเองและผู้อื่น 

         เรามีวิธีตระหนักรู้สภาพจิต ในขณะที่เราพูดด้วยการกลับมาตามลมหายใจ เมื่อเราตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจ เราสามารถนำกายและใจมาอยู่ด้วยกัน เราสามารถตระหนักรู้ความคิดของเรา หลวงพี่แนะนำว่าก่อนที่เราจะพูด ขอให้เราลองตามลมหายใจสามครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้พูดขณะที่กำลังโกรธ ร่างกายของเราช่วยบอกเราว่าเรากำลังโกรธอยู่หรือไม่ ขณะที่เรากำลังโกรธหัวใจของเราจะเต้นแรง ใบหน้าและหูของเราแดง โปรดตามลมหายใจจนหัวใจของเธอจนสงบลง และใบหน้าของเธอเป็นปกติ แล้วจึงค่อยพูดออกไป

 5. การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อกันและกัน

         เมื่อมองไปในปรากฎการณ์ใดปรากฎการณ์หนึ่ง คนสองคนอาจเห็นไม่เหมือนกัน เช่น ในวันที่ฝนตก เราอาจไม่พอใจเพราะเราต้องการออกไปข้างนอก ในขณะที่ชาวสวนที่รอเวลาฝนตกอย่างความสุข หรือภายในจิตใจเราก็สามารถมีความคิดเห็นที่เปลี่ยนแปลงไปได้มาก เช่น วันเราเห็นมือถือรุ่นใหม่สวยเหลือเกิน เราอยากได้มาก แต่หนึ่งสัปดาห์ต่อมาเราเห็นรุ่นใหม่ที่สวยกว่า มือถือในสัปดาห์ที่แล้วก็ไม่สวยอีกแล้ว จะเห็นได้ว่าในตัวบุคคลเพียงแค่คนเดียวสามารถมีทัศนติและความคิดเห็นที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ในการอยู่ร่วมกันในสังคมย่อมมีความคิดที่ต่างกัน ฉะนั้นการแลกเปลี่ยนจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

         การเป็นนายกรัฐมนตรีจึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะคนในสังคมมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย และล้วนต้องการการรับฟังการผู้ปกครอง ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการเข้าหากันเพื่อแลกเปลี่ยนกัน

 6. การยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น การไม่บังคับข่มขู่ให้ผู้อื่นคิดตามเรา และมีการตัดสินใจร่วมกัน

         ในสังคมประชาธิปไตยทุกเสียงควรได้รับฟังและมีโอกาสได้แลกเปลี่ยน บางความเห็นสามารถพูดคุยในเวลาไม่นาน บางความเห็นจำเป็นต้องพูดคุยกนหลายเดือน เมื่อเราสามารถฟังความเห็นและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยน เมื่อมีการตัดสินใจเกิดขึ้น คนที่มีความคิดเห็นต่างออกไปย่อมมีความสุข เพราะเขาได้แสดงความคิดเห็นและรับฟังความเห็นของผู้อื่น

         แน่นอนว่าความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ จะได้รับการเลือกเป็นข้อตัดสินใจ แต่ถ้าผลการแสดงความคิดเห็นมีความใกล้เคียงกันนั่นแปลว่ามีการแบ่งแยกในชุมชน ฉะนั้นในฐานะผู้นำเราต้องมองอย่างลึกซึ้ง และหาวิธีการการอยู่ร่วมกัน

         ในสังฆะจะมีการตัดสินใจร่วมกันของสังฆะหรือ "สังฆะกรรม" เช่น ในกรณีที่มีผู้เตรียมบวชขอบวช สมาชิกทุกคนในสังฆะจะรวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นและออกเสียง หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย เราจะมีการถามพี่น้องในสังฆะว่ามีความสุขหรือไม่ที่ต้องปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ แต่หากผลการออกเสียงมีความใกล้เคียงกัน เรายังไม่สามารถตัดสินใจได้ และต้องหาวิธีการเริ่มต้นใหม่ นี่คือวิธีการของประชาธิปไตย

         ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้ชุมชนพุทธศาสนา สามารถดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ คำสอนของพระพุทธองค์เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมาก และเราสามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้ได้ เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้นำคำสอนของพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารประเทศ ซึ่งทำให้ผู้คนในประเทศและประเทศรอบข้างมีความสุข 
         Peace in oneself, Peace in the world
         ความสงบสันติในตัวเรา คือ ความสงบสันติในโลก 

         ถ้าเรามีความสามัคคีกลมกลืนในตัวเราเอง เราจะสามารถนำความสงบสันติมาสู่ครอบครัว สังคมและโลกได้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราสามารถเริ่มสันติได้จากตัวเราเอง เราสามารถฝึกปฏิบัติเข้าไปในบุคคลต่างๆ ที่แบ่งขั้วกัน เราฝึกเข้าไปอยู่ในตัวนายกรัฐมนตรี เราฝึกเข้าไปอยู่ในตัวคนที่อยากให้นายกฯ ลาออก เราฝึกเข้าไปอยู่ในตัวคนที่สนับสนุนนายกฯ 

         เราอาจเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใครเป็นผู้นำประเทศ ปัญหาคือความสามารถที่จะดูแล เมื่อทุกคนมีความสามารถดูแล พวกเขาสามารถดูแลผู้นำประเทศได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น